`
←  DGO Living Room : ห้องนั่งเล่น
Logo
»

++5 อุปสรรคสำคัญในการแปลวีดีโอเกมเป็นภาษาไ...

chinn's Photo chinn 12 Nov 2018


เมื่อคุณอยากจะสัมผัสวีดีโอเกมได้อย่างครบรสและอยากจะเข้าถึงเนื้อหาได้แบบไม่ติดขัด ปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมากในการเสพเนื้อหาก็คือเรื่องของ “ภาษา” เพราะภาษานั้นจะทำให้เราสามารถรู้เรื่อง รับรู้ และอินไปกับเนื้อหาในวีดีโอเกมได้

แต่นั้นก็เพราะเหตุผลนี้แหละที่ทำให้เกมเมอร์ไทยหลาย ๆ คนมีปัญหาในการเข้าถึงสื่อวีดีโอเกม ด้วยเหตุผลเรื่องของ “กำแพงของภาษา” นั้นเอง และนั้นส่งผลให้เกมเมอร์บางคนอาจจะเล่นไม่รู้เรื่อง หรือไม่รู้เนื้อหาแบบที่ควรจะรู้ บางครั้งเราก็จะได้เห็นคำถามเชิง “ตรงนี้ให้ทำอะไรหรือครับ” ซึ่งนี่คือปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเช่นกัน เพราะไม่ใช่ทุก ๆ คนที่จะเปิดใจรับกับการเรียนภาษา และไม่ใช่ทุก ๆ คนที่ต้องการจะศึกษาภาษาอังกฤษจากวีดีโอเกม

ทำให้เกมเมอร์เหล่านี้ต้องหาที่พื่งตัวใหม่ที่ช่วยทำให้พวกเขาสามารถซึมซับและอินไปกับวีดีโอเกมที่พวกเล่นได้มากขึ้น และคำตอบก็คือ “ภาษาไทยในวีดีโอเกม” ซึ่งแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นใครก็อยากให้มีภาษาไทยในตัวเกม แม้คุณจะเก่งหรือไม่เก่งภาษาอังกฤษก็ตาม เพราะมันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงศักยภาพของตลาดในบ้านเรา

แต่แน่นอนขึ้นชื่อว่าเป็นเรื่องของการแปลภาษาหรือการทำ “Lozalization” แล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะงานแบบนี้มาพร้อมกับอุปสรรคสำคัญมากมาย เพราะฉะนั้นทาง จึงขอเสนอ 5 อุปสรรคสำคัญในการแปลวีดีโอเกมเป็นภาษาไทยสำหรับค่ายพัฒนาเกม ว่าจะมีปัจจัยหรืออุปสรรคอะไรที่ส่งผลต่อการพัฒนาตัวเกมให้มีภาษาไทยกันบ้าง ไปดูกันเลยครับ

ลูกเล่นของภาษาไทย ทั้งในเชิงโวหารและการออกแบบ

น่าจะเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ยาก เพราะโครงสร้างภาษาไทยนั้นถือว่าเป็นภาษาที่ขึ้นชื่อว่า “มีความซับซ้อน” เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสระสองชั้น และนั้นทำให้เรามักจะเห็นหลาย ๆ เกมมีการแสดงสระที่ผิดเพี้ยน เช่นสระลอย หรือสระทับซ้อน ซึ่งด้วยเหตุนี้แหละที่ทำให้เกิดปัญหาชวนปวดหัว ต่อการพัฒนาและการแปลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

และนอกจากเรื่องของโครงสร้างภาษาแล้ว เริ่องของ “โวหารภาพพจน์” ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนเช่นกัน เพราะบางคำของภาษาต้นฉบับ พอแปลเป็นไทยก็อาจจะไม่ได้ความหมาย แถมยังมีการเล่นคำเล่นลิ้นอีก และนั้นหมายความว่าเราจะต้องใช้ความหมายและโวหารให้เหมาะกับเซตติ้งเนื้อเรื่องและสภาพแวดล้อมภายในเกม ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างต้องใช้เวลาศึกษาถึงจะคุ้นชินและทำการแปลได้อย่างคล่องตัวได้เหมาะสม


เนื้อหาเกมที่มหาศาล ต้องใช้เวลาและทักษะเป็นอย่างมากในการแปล

ถือว่าค่อนข้างสมเหตุสมผลพอสมควร เพราะยิ่งตัวเกมมีเนื้อหาเยอะมากเท่าไหร่ จำนวนเนื้อหาที่ต้องทำการแปลก็ย่อมแปรผันไปตามเนื้อหาของเกมเท่านั้น และนั้นอาจจะหมายถึงเนื้อหาจำนวนมหาศาลที่ต้องทำการแปลออกมา

ปัญหานี้อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคหนักหนา สำหรับเกมที่เน้นเกมเพลย์และไม่ค่อยมีเนื้อเรื่องอะไรมาก แต่สำหรับเกมแนว Sandbox ที่มีเนื้อหาและคอนเทนต์เยอะ ๆ และเกมที่เน้นเนื้อเรื่องจนมีจำนวนบทหนาราวกับหนังสือพจนานุกรมแล้วนั้น ย่อมเป็นอุปสรรคหนักในการแปลภาษาในตัวเกมอย่างแน่นอน เพราะนั้นหมายความว่าเราจะต้องใช้ “ทีมแปลมืออาชีพ” โดยพวกเขาต้องใช้เวลาและใช้ทักษะในการแปลภาษาให้ออกมาสมบูรณ์ เพราะงานแบบนี้จะให้มีฝีมืออย่างเดียวนั้นก็ทำไม่ได้ เวลาที่มีให้ก็ต้องนานพอที่จะทำออกมาได้ดีและสมบูรณ์

Posted Image

เกมเมอร์บ้านเรายังไม่ให้การสนับสนุนที่ดี “มากพอ”

หลาย ๆ คนที่ได้อ่านแล้วอาจจะตกใจ ว่าเอ๊ะ !! มันไม่น่าจะจริงนี่ เพราะ Sony ก็มาแล้ว Steam ก็มีการใช้ค่าเงินไทยแล้ว และหลาย ๆ เกมที่พักหลัง ๆ ก็เริ่มมีภาษาไทยมาให้เล่นกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น PUBG, Dead by Daylight, The Quiet Man, Secret of Mana, Cat Quest หรือแม้กระทั่งเกมเกรด AAA อย่าง Sekiro : Shadow Die Twice ก็มีการจัดทำแปลภาษาไทยออกมาแล้ว

ซึ่งเอาจริง ๆ มันก็อาจจะถูกที่ข้อนี้อาจจะไม่จริง แต่ต้องใช้ประโยคว่า “เริ่มมีความเป็นจริงที่น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลง” เพราะเราก็ต้องยอมรับว่าประเทศเราสำหรับวีดีโอเกมแล้วยังไม่ใช่ตลาดใหญ่ยักษ์อะไร ถึงแม้เราจะสนับสนุนระดับที่มีหลาย ๆ ค่ายเรื่มมาทำตลาดในบ้านเรา แต่กลับเรื่องของการแปลภาษาหรือเรื่องของการ Localization แล้วยังคงมีปริมาณที่น้อยอยู่ โดยเป็นเหตุมาจากการสนับสนุนจากเกมเมอร์ชาวไทยที่อาจจะยังไม่เพียงพอนั้นเอง

ซึ่งในจุด ๆ นี้ ในฐานะที่พวกเราเป็นเกมเมอร์ที่อยากจะสนับสนุนให้ค่ายเกมนานาชาติให้ความสนใจกับตลาดเกมในบ้านเรา และกำลังซื้อของเกมเมอร์ในบ้านเรา จากเดิมที่เราเริ่มทำได้ดีในจุดนี้และดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ก็ขอให้ทำดี ๆ ยิ่งขึ้นไปอีก โดยเรามีวิธีที่จะช่วยสนับสนุนค่ายเกมได้แบบมีประสิทธิภาพ ก็คือ การซื้อวีดีโอเกมในรูปแบบของ “มือหนึ่งราคาเต็ม” กันให้เยอะ ๆ แต่ถ้าหากคุณไม่มีกำลังทรัพย์ที่มากพอ การซื้อวีดีโอเกมในช่วงลดราคา ก็สามารถช่วยได้เช่นกันครับ

Posted Image

งบประมาณที่ต้องใช้สูงมาก และอาจจะไม่คุ้มค่าต่อค่ายเกม

คุณรู้หรือไม่ ?? งานแปลภาษานั้นเป็นงานที่มีเรตราคาที่สูงมาก โดยเฉพาะกับการแปลภาษาในวีดีโอเกมที่มีรายละเอียดและเนื้อหาเป็นหลักร้อย-หลักพันบรรทัด และนั้นหมายความว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการจ้างทีมแปลภาษาก็ยิ่งสูง และหากยิ่งต้องการให้งานแปลออกมาดูสวยไร้ที่ติ ก็ยิ่งทวีค่าใช้จ่ายเข้าไปอีก

ซึ่งตัวเหตุผลนี้ไม่ได้เป็นแค่กับภาษาไทยเท่านั้น ภาษาญี่ปุ่น และภาษารัสเซียก็น่าจะมีสภาพไม่ต่างกัน เนื่องจากว่างานแปลนั้นไม่ใช่งานที่ง่ายแบบที่แค่โยนสคริปต์ลงไปใน Google Translate ก็แปลได้แล้ว ซึ่งมันไม่ใช่แบบนั้นแน่นอน เพราะมันจะมีเรื่องของความเหมาะสม เรื่องของโวหาร และเรื่องของรูปประโยค ที่ภาษาไทยจะมีความแพรวพราวและลูกเล่นค่อนข้างที่จะเยอะ และแน่นอนนั้นเท่ากับว่าเราต้องใช้ “ทีมแปลภาษา” ที่เชี่ยวชาญทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งในประเทศไทยถือว่าหาจ้างหรือหาคอมมิชชั่นได้ยากมากเลยทีเดียว

และด้วยเหตุนี้ ทำให้ทางค่ายเกมมักจะไม่ค่อยลงทุนกับการแปลภาษาไทยซักเท่าไหร่นัก นั้นก็เพราะว่าการลงทุนนั้นย่อมมีความเสี่ยงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับยุคนี้ที่วีดีโอเกมกับธุรกิจกำลังเกี๊ยวภาราสีกันอย่างโจ่มแจ้งจนเป็นที่ยอมรับ ทางค่ายเกมอาจจะมองว่า “อาจจะไม่คุ้ม” รึเปล่า หากยอดขายเกมในประเทศไทยที่มีการจัดทำการแปลนั้นกลับทำยอดขายได้ไม่ดี นี่ยังไม่รวมถึงอุปสรรคในเรื่องของการ “เข้ารหัสภาษา” ที่หากตัวเกมมันไม่ได้รองรับตั้งแต่แรกก็ต้องรื้อและอัพระบบใหม่กันเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นเราจึงจะได้เห็นภาษาไทยในรูปแบบของ “Fan Translation” กันมากกว่า อาทิเช่น Fallout 4, The Witcher 3, Stardew Valley, Don’t Starve และเกมอื่น ๆ อีกเพียบ ที่ทีมงานที่แปลก็ล้วนเป็นแฟนเกมนี้และทำตัว Mod ภาษาไทยมาแจกจ่ายให้กับผู้เล่นอื่น ๆ ด้วยงบประมาณที่น้อยนิดบวกกับใจรักที่มีต่อเกมที่เขาเล่น

Posted Image

ความร่วมมือของเกมเมอร์กับการขัดเกลาภาษาภายในเกม

เวลาคุณทำงานออกมาสักชิ้น แล้วคุณโดนวิจารณ์ว่างานของคุณนั้น “ไม่ดี” สิ่งที่คุณจะทำคือการโต้กลับ หรือการนำคำวิจารณ์ไปแก้ไขผลงานของตนเองล่ะ ?? แน่นอนว่าหากขึ้นชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์แล้วต้องเป็นข้ออย่างหลังอย่างแน่นอน แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่คุณจะรับคำวิจารณ์ได้รึเปล่า ปัญหามันอยู่ที่ “คุณจะหาประโยชน์จากคำวิจารณ์” นั้นได้ไหม ??

เช่นเดียวกับเรื่องของการแปลภาษา ที่หลาย ๆ เกม ทางผู้เขียนก็ต้องพูดกันตรง ๆ ว่ามีการแปลที่ผิดเพี้ยนและค่อนข้างจะมั่วพอสมควร ซึ่งก็แน่นอนครับ ในแง่ของการ Localization แล้ว เวลาเขาแปลภาษาให้และอยากให้คนมาเช็คการแปลของพวกเขา เขาไม่ได้อยากรู้แค่ว่า “เขาแปลมั่ว” เฉย ๆ นะครับ แต่เขาอยากรู้ว่า “เขาแปลมั่วตรงไหน” ซึ่งอย่างที่เราเห็น ๆ กัน เกมเมอร์หลาย ๆ คนมักจะตัดพ้อว่า “แปลมั่วอะ แปลทำไม” แต่กลับไม่ให้คำแนะนำแก้ไขไปให้ทางทีมพัฒนาซะอย่างงั้น ซึ่งบางเคสทางผู้เขียนเข้าใจนะครับ ว่าอาจจะเป็นเรื่องกำแพงของภาษาแหละ เพราะถึงตัวเกมจะมีการทำ Localization เป็นภาษาไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีพนักงานซัพพอร์ตภาษาไทยมารองรับจุด ๆ นี้ ทำให้ตัวของคุณอาจจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการแจ้งจุดที่ผิดพลาดในการแปล

ซึ่งถึงแม้จะมีแฟนเกมบางกลุ่มที่อุทิศเวลาของตนเองเพื่อทำการเช็คภาษาและช่วยทางทีมพัฒนาขัดเกลา แต่ของแบบนี้มันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากจิตอาสาครับ เพราะทุก ๆ คนสามารถช่วยคนละไม้คนละมือได้ หากเห็นตรงไหนแปลมั่วหรือแปลผิดเพี้ยน ก็สามารถส่งรายงานไปได้เลย หรือจะไปรายงานกับทีมอาสาสมัครเหล่านั้นและให้พวกเขารวบรวมไปแจ้งก็ได้ โดยสิ่งที่เราได้ไม่ใช่แค่เรื่องของความถูกต้องในการแปลภาษาเท่านั้น แต่เราจะได้ทั้งทักษะภาษาอังกฤษ และได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมเกมที่คุณได้ร่วมด้วยครับ

Posted Image

และทั้งหมดนี้ก็คือ 5 อุปสรรคสำคัญกับการแปลภาษาไทยในวีดีโอเกม ซึ่งด้วยอุปสรรคเหล่านี้แล้ว ทำให้เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นการทำ Localzation โดยการแปลวีดีโอเกมให้เป็นภาษาไทย เพราะถึงแม้มันจะเป็นเพียงแค่งานแปล แต่มันก็ไม่ใช่งานที่ง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะต้องใช้ทุนและทรัพยากรในการแปล โดยจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าด้วย ทำให้มักไม่ค่อยมีค่ายเกมทำการแปลวีดีโอเกมของพวกเขาให้เป็นภาษาไทยซักเท่าไหร่นัก

แล้วคุณล่ะ ?? คิดว่าการแปลวีดีโอเกมให้เป็นภาษาไทยนั้น มีอุปสรรคหรือเหตุผลนอกเหนือจากที่ผู้เขียนรึเปล่า หรือเหตุผลที่ผู้เขียนยกมามีตรงไหนที่ผิดพลาดและสามารถอธิบายเพื่มเติมได้ ลองแสดงความคิดเห็นไว้ได้เลยครับ
Quote

gamer's Photo gamer 12 Nov 2018

เหตุผลน่าจะมีแค่ข้อเดียว คือเรื่องผลประโยชน์นั่นแหละ คุ้มหรือไม่คุ้มที่จะทำ (ผมว่าไม่คุ้ม) :nothing:
ส่วนตัวไม่ยี่หระกับเรื่องภาษาไทยเพราะโตมากับเกมภาษาญี่ปุ่นและท่องเว็บอ่านบทความภาษาอังกฤษมานานแล้ว
Quote

umbababa's Photo umbababa 12 Nov 2018

เหตุผลที่เหลือ... ประเทศเรายากจนมั้ง ต่อให้ปราบก๊อปหมด โปรเทคจนเล่นก๊อปไม่ได้ ก็ยังนับหัวคนที่ซื้อมือ1เล่นแผ่นละ2000จริงๆได้น้อยกว่าชาติอื่นมาก(ไม่นับคนเล่นมือสอง กับคนรอให้PSNขายถูกๆ)
ไอตอนจับมัดขายรวมๆเป็นโซนเอเซีย ก็ไม่ลำบากอะไรมาก แค่ฟลุ้กได้เงินเพิ่มจากประเทศๆนึง แต่กรณีจับมาแปลมันขายได้ประเทศนั้นประเทศเดียวเฉพาะเจาะจงเลย....
แล้วคนมีเงินส่วนใหญ่จะไม่แคร์ภาษาเป็นทุนอยู่แล้วด้วยปัจจัย อายุ+ความรู้ ขอเล่นเร็วไว้ก่อน
ส่วนตัวเกมที่มีรายละเอียดมโหราฬกว่าจะแปลได้หมดทุกจุด เกมก็เก่าจนฐานลูกค้าที่เขาเล็งไม่เอาแล้ว
แล้ว จะเสี่ยงขยายตลาดเอาใจกลุ่มคนอ่านไม่ได้ไปทำไม
Quote

naknaknak's Photo naknaknak 12 Nov 2018

ผมว่าถ้าต่อไปพวกนักพัฒนาเพิ่ม tool สำหรับให้คนในประเทศนั้นๆ แปลเป็นภาษาของตัวเองแล้ว ให้คนในประเทศช่วยกันแปลเอง น่าจะสะดวกขึ้นเยอะเลย
Quote

9th TEARDROP's Photo 9th TEARDROP 13 Nov 2018

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแปลคือ
"เลิกให้ความสำคัญกับคำแปล แล้วทุ่มทุกอย่างไปที่ความหมายที่เหตุการณ์นั้นๆต้องการสื่อเป็นหลัก"

"Oh!! for god sake!!" พี่ไทยควรเลิกแปลเป็น "โธ่!! เห็นแก่พระเจ้าเถอะ!!"
เพราะมันไม่มีคนไทยคนไหนพูดแบบนั้นในการสนทนา

สิ่งที่ตัวละครที่พูดวลีนี้ต้องการสื่อมีแค่ 2อย่าง ถ้าไม่อ้อนวอนขอร้องคนที่พูดด้วย ก็สบถด้วยความเซ็งเป็ด
เขาไม่ได้ต้องการจะพูดถึงพระเจ้าจริงๆ เหมือนที่คนไทยพูดว่า "สิงห์สาราสัตว์" เราไม่ได้ต้องการจะพูดถึงรานั่นแหละ

แปลเป็นไทย "โธ่!! ถือว่าเอาบุญเถอะนะครับ" (อ้อนวอน) หรือ "ปั๊ดโธ่!! จะอะไรกันหนักหนาเนี่ย!!" (สบถ) จะธรรมชาติกว่า

จุดประสงค์ของการแปลคือ การ"สื่อความหมาย"จากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง
ไม่ใช่แค่การ "สลับ" คำศัพท์จากภาษาหนึ่งให้เป็นอีกภาษาหนึ่ง

ผมว่านี่แหละคืออุปสรรคการแปลของคนไทย ไปแปลออกมาเป็นคำที่เราไม่ได้ใช้กัน
มันเลยออกมาดูแปร่งๆ
Edited by 9th TEARDROP, 13 November 2018 - 12:36 AM.
Quote

ผมเอง's Photo ผมเอง 13 Nov 2018

"...งานแปลภาษานั้นเป็นงานที่มีเรตราคาที่สูงมาก..."

งานแปลใหญ่ๆก็เห็นไปจ้างช่วงบริษัททำนองรับเหมาทุกที หักหัวคิวกันไม่รู้กี่ทอด เหลือถึงคนแปลจริงๆกี่%ก็ไม่รู้
แถมตัวผู้จัดจำหน่ายเองก็ไม่เห็นสนใจเรื่องคุณภาพเท่าไหร่ เห็นบางเกมมีแปลหลังกล่องเป็นภาษาไทยแค่ไม่กี่ย่อหน้า อ่านแล้วยังกุมขมับเลย
Quote

poomy's Photo poomy 13 Nov 2018

มันมีเรื่องเยอะกว่านั้นครับ
Quote

PongZung's Photo PongZung 13 Nov 2018

ผมเคยทำระบบ ขนาดกลางๆ แค่นั้นก็ปวดหัวมากแล้ว เพราะแม่มกระทบ layout ไปหมดเลย ภาษาไทยเนี่ย

แถมยังหา font ที่เข้ากันก็ยาก ภาษาอังกฤษละดีแล้ว ผมได้ทักษะภาษาก็เพราะเกม ส่วนนึง
Quote

hey008's Photo hey008 13 Nov 2018

เคยทำ website multi language ใน 1 คำ แต่ละภาษาสั้นยาวไม่เท่ากัน โครตเป็นปัญหาตอนแสดงผมอ่ะ ...
Quote

silapakorn's Photo silapakorn 13 Nov 2018

คนทำงานด้านการแปลอย่างผม ยังไม่อยากเล่นเกม/ดูหนังที่มีซับไทยเลยครับ เจอคำแปลผิดแล้วหงุดหงิด เสียอรรถรสหมด
Quote

paween_a's Photo paween_a 15 Nov 2018

View Post9th TEARDROP, on 13 November 2018 - 12:28 AM, said:

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแปลคือ
"เลิกให้ความสำคัญกับคำแปล แล้วทุ่มทุกอย่างไปที่ความหมายที่เหตุการณ์นั้นๆต้องการสื่อเป็นหลัก"

"Oh!! for god sake!!" พี่ไทยควรเลิกแปลเป็น "โธ่!! เห็นแก่พระเจ้าเถอะ!!"
เพราะมันไม่มีคนไทยคนไหนพูดแบบนั้นในการสนทนา

สิ่งที่ตัวละครที่พูดวลีนี้ต้องการสื่อมีแค่ 2อย่าง ถ้าไม่อ้อนวอนขอร้องคนที่พูดด้วย ก็สบถด้วยความเซ็งเป็ด
เขาไม่ได้ต้องการจะพูดถึงพระเจ้าจริงๆ เหมือนที่คนไทยพูดว่า "สิงห์สาราสัตว์" เราไม่ได้ต้องการจะพูดถึงรานั่นแหละ

แปลเป็นไทย "โธ่!! ถือว่าเอาบุญเถอะนะครับ" (อ้อนวอน) หรือ "ปั๊ดโธ่!! จะอะไรกันหนักหนาเนี่ย!!" (สบถ) จะธรรมชาติกว่า

จุดประสงค์ของการแปลคือ การ"สื่อความหมาย"จากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง
ไม่ใช่แค่การ "สลับ" คำศัพท์จากภาษาหนึ่งให้เป็นอีกภาษาหนึ่ง

ผมว่านี่แหละคืออุปสรรคการแปลของคนไทย ไปแปลออกมาเป็นคำที่เราไม่ได้ใช้กัน
มันเลยออกมาดูแปร่งๆ

เห็นด้วยครับ แต่เรื่องข้อจำกัดของบริบทรอบข้างที่คนแปลไม่เห็นเหมือนตอนเล่นเกม บางทีก็เห็นประโยคเรียง ๆ กัน ส่วนใหญ่ก็เรียงตามลำดับเหตุการณ์ แต่พอเกมที่ซับซ้อนมีหลาย ๆ ตัวเลือก มีหลาย ๆ ทางเลือก มันทำให้มองสถานการณ์โดยรวมไม่ออก การแปลก็เลยยากอยู่
Quote